เมื่อการทำให้อุปกรณ์ทุกอย่าง ‘ฉลาด’ อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหา
ในงาน CES (Consumer Electronics Show) 2017 ที่ลาสเวกัสเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้มีข่าวการเปิดตัว Smart Hairbrush ครั้งแรกของโลก ซึ่งขออนุญาตแปลแบบโง่ๆ ว่า ‘หวีฉลาด’ ก็แล้วกันนะคะ ( ไม่กล้าเรียกว่า ‘หวีอัจฉริยะ’ เพราะไม่ได้ค่า PR แต่อย่างใด! )
เจ้า ‘หวีฉลาด’ ที่ว่ามานี้เนี่ยเปิดตัวในชื่อ ‘Kérastase Hair Coach Powered by Withings’ หรือเคเรสตาส แฮร์ โค๊ช พาวเวอร์บาย วิทธิงส์ ( ชื่อยาวมากกกก จึงขอพิมพ์ครั้งเดียวและครั้งสุดท้าย ) ซึ่งเป็นการร่วมมือระหว่างแลปนวัตรกรรมของลอรีอัลซึ่งเป็นแบรนด์ด้านความงามชั้นนำและวิทธิงส์ (บริษัทนวัตรกรรมด้านสุขภาพที่โนเกียเข้าครอบครองอยู่) ส่วนเคเรสตาสเป็นผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมระดับไฮเอนด์ของลอรีอัลนั่นเองค่ะ
ความน่าสนใจของหวีฉลาดอันนี้เนี่ยอยู่ที่มันสามารถส่งข้อมูลสุขภาพของเส้นผมและวิเคราะห์พฤติกรรมในการหวีผมของผู้ใช้ไปยังแอปพลิเคชันบนมือถือผ่าน Wi-Fi และ Bluetooth และคอยแนะนำวิธีในการดูแลผมและผลิตภัณฑ์ในดูแลเส้นผม (แน่นอนว่าต้องเป็นของเคเรสตาสอยู่แล้ว) อีกทั้งยังคอยสั่นเตือนเมื่อผู้ใช้หวีผมผิดวิธีอีกด้วย ด้วยสรรพคุณที่ว่ามานี้ทำให้มงกุฎลงหัวได้รับรางวัล International CES Innovation Award เลยทีเดียว (เอามือทาบอก)
เจ้าหวีไฮเทคติดเซ็นเซอร์ที่ว่ามานี้นี้ใส่ถ่าน AA 2 ก้อนที่ด้ามจับและอาจใช้ได้ราวครึ่งปี เซ็นเซอร์ในตัวประกอบด้วย ไมโครโฟน ที่คอยฟังเสียงการหวีผม มี Gyrometer และ Accelerometer ที่ช่วยวิเคราะห์ความหนักเบาและรูปแบบในการหวีผม และยังมี Conductivity Sensor ที่ช่วยตรวจจับความแห้งของเส้นผมอีกด้วย เจ้าหวีอันแสนชาญฉลาดที่มีชื่อยาวเหยียดนี้มีแพลนที่จะจัดจำหน่ายในกลางปี 2017 ด้วยราคาประมาณ 200 เหรียญ (อาจต่ำกว่า) หรือตีเป็นเงินไทยราวๆ 7 พันบาทเท่านั้นเอ๊งงงงงง (เสียงสู๊งงงงง)
คงปฏิเสธไปเสียมิได้ค่ะว่าการมาของเจ้าหวีไฮเทคเป็น ‘นวัตรกรรม’ และ ‘ไอเดีย’ ที่น่าตื่นตาตื่นใจในการปฏิวัติวิธีในการดูแลผมของคนที่มีเงินเหลือใช้ (โอนมาทางนี้บ้างค่ะ) ส่วนจะ ‘เกิด’ หรือ ‘ดับ’ จะเป็น ‘ของใช้’ หรือ ‘ของเล่น’ ก็คงต้องรอดูกันต่อไปค่ะ
บางทีผู้เขียนก็คิดนะคะว่า…
เรามาถึงจุดที่ต้องซื้อหวีต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อใช้เซ็นเซอร์ตรวจสอบดูว่าผมเราแห้งหรือเปียกอยู่เปล่าผ่านมือถือได้อย่างไร ?
ทำไมเราต้องแปลงผมซ้ำๆ เพื่อให้เซ็นเซอร์รู้ว่าผมเราพันกันนะ?
ทำไมเราต้องหวีผมไปมาเพื่อให้เซ็นเซอร์เก็บข้อมูลว่าผมเราแตกหรือแห้งเสียหรือเปล่า?
ทำไมต้องไปเปิดแอปพลิเคชันเพื่อดูสถานะของเส้นผมบนหัวของเราในโทรศัพท์มือถือ
ซึ่งทั้งหมดที่ว่ามานี้ถ้าเราใช้ ‘สัญชาตญาณ’ ความเป็นมนุษย์ที่สั่งสมมาเงยหน้ามองตัวเองในกระจกสักนิด หรือใช้ความรู้สึกที่มือในการสัมผัสถึงแม้ร่างกายจะเป็นเซ็นเซอร์แบบหยาบแต่เรารู้สึกได้แน่นอนค่ะว่าแค่หวีโง่ๆ ก็อาจคู่ควรกับเราแล้วค่ะ
ทำไมเราต้องพึ่งพา ‘ข้อมูล’ ที่อาจไม่มีความจำเป็นหรือไม่จำเป็นต้องใช้เลยก็ได้ในการหวีผมให้เพียงพอที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกได้โดยที่หัวไม่ฟู
การอ่านรีวีวการดูแลผม รีวีวผลิตภัณฑ์ดูแลเส้นผมและหวีดีๆ สักอันในจีบันหรือพันทิปก็อาจทำให้เราได้ความรู้และผลิตภัณฑ์ดีๆ ในราคาที่คู่ควรกับเราก็เป็นไปได้นะคะ
การที่เราสามารถทำให้อุปกรณ์ทุกอย่างเชื่อมต่อสู่อินเตอร์เน็ตได้ ไม่ได้แปลว่าเราจำเป็นต้องทำให้ทุกอย่างต้องเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตเพื่อแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง
ทำไมเราต้องเรียกอุปกรณ์ที่ต่อเน็ตได้ว่าเป็นอุปกรณ์ที่ฉลาด
ทำไมเราต้องมองหาเทคโนโลยีอะไรบางอย่างก่อนในการแก้ปัญหาอะไรสักอย่าง ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ ถ้ามันไม่ได้ทำให้ง่ายขึ้น เร็วขึ้นหรือราคาถูกกว่าเดิม
ในวันพรุ่งนี้เราอาจจะเห็นสมาร์ทครกกับสมาร์ทสากที่ต่อเน็ตได้แล้วสามารถตั้งเวลาในการตำน้ำพริกผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือได้ก็คงไม่น่าแปลกใจแล้วล่ะค่ะ (ดีไม่ดีจะได้รับรางวัลด้วย)
โซลูชันสำหรับแก้ Pain Point ในการหวีผมอาจไม่จำเป็นต้องใช้ ‘Data’ ก็ได้มั้งคะ…
IoT อาจเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาแต่ไม่ใช่ ‘กระสุนเงิน’ แน่ๆ ค่ะ