11 มิ.ย. 2563 9,109 1

GARMIN แนะ 5 ฟังก์ชันเฝ้าระวังสุขภาพด้วยตนเอง

GARMIN แนะ 5 ฟังก์ชันเฝ้าระวังสุขภาพด้วยตนเอง

ไกรรพ เหลืองอุทัย ผู้จัดการทั่วไป บริษัท จีไอเอส จำกัด ในกลุ่มบริษัท ซีดีจี (CDG) ตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยของบริษัท การ์มิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า จากรายงานของ Technavio เมื่อต้นปี 2020 เผยว่าตลาด Health and  Wellness มีแนวโน้มเติบโตสูงถึง 6.30% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา  และยังพบว่าวิกฤตของโรคอุบัติใหม่รวมถึงปัญหามลภาวะต่าง ๆ ที่มีผลต่อสุขภาพร่างกาย กลุ่มคนยุคดิจิทัลให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพตัวเองด้วยตนเอง การป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาสุขภาพ และการเฝ้าระวังความผิดปกติของร่างกายก่อนตัดสินใจเข้าพบแพทย์ โดยมองหาอุปกรณ์สวมใส่ (wearable products) ที่สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์และสวมใส่ในชีวิตประจำวัน เป็นเสมือนผู้ช่วยส่วนตัวที่สามารถแจ้งเตือนได้ ซึ่งสมาร์ทวอทช์การ์มินที่มาพร้อม 5 ฟังก์ชันสุขภาพในแอปพลิเคชัน GARMIN Connect จะเป็นโซลูชันที่จะเข้ามาตอบโจทย์คนยุคดิจิทัลที่ใส่ใจสุขภาพได้เป็นอย่างดี

โดยการ์มินสมาร์ทวอทช์เกือบทุกรุ่นจะมี 5 ตัวชี้วัดทางสุขภาพบนแอปพลิเคชัน GARMIN Connect ซึ่งประกอบด้วย

1. ฟังก์ชันเฝ้าสังเกตการนอนหลับ (Sleep Monitoring) ช่วยบันทึกระดับออกซิเจนในเลือด และการพลิกตัวระหว่างการนอนตลอดทั้งคืน เพราะการนอนหลับที่ดีเป็นปราการด่านแรกในการต่อสู้กับไวรัส และคุณภาพการนอนที่ดีเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาร่างกายให้ทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

2. ฟังก์ชันความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด (SpO2)*Pulse Ox ค่า SpO2 ที่ดีควรอยู่ที่ 95-100% การเฝ้าสังเกตการตอบสนองและความเปลี่ยนแปลงของค่าออกซิเจนในเลือดสามารถช่วยให้เข้าใจสภาพร่างกายได้ดีขึ้น ซึ่งถ้าตัวเลข SpO2 ต่ำกว่าปกติ มีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ ส่งผลต่อระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกาย

3. ฟังก์ชันการเฝ้าสังเกตความเครียด (Stress Monitoring) ความแปรปรวนของอัตราการเต้นหัวใจ (HRV) เป็นตัวแปรในการประเมินระดับความเครียด โดยวัดระดับความเครียดจาก 0-100 ซึ่ง 0-25 ความเครียดระดับต่ำ, 26-50 ความเครียดระดับกลาง, 51-75 ความเครียดระดับสูง, 76-100 ความเครียดระดับสูงมาก

4. ฟังก์ชันการวัดอัตราการเต้นหัวใจ (Heart Rate) อัตราการเต้นของหัวใจสามารถบอกสภาพร่างกายได้ เมื่ออุณหภูมิของร่างกายสูง อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้น และเมื่ออุณหภูมิร่างกายลดลง ความแรงของการบีบตัวของหัวใจก็จะปรับลดลง คนที่มีอัตราการเต้นของหัวใจสูงจะมีความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจสูงกว่าปกติ

5. ฟังก์ชันอัตราการหายใจ (Respiratory Rate) มีเทคนิคในการหายใจต่าง ๆ มากมายที่ช่วยให้ผ่อนคลายความตึงเครียด เพิ่มสมาธิ และเพิ่มคุณภาพการนอนให้ดีขึ้น โดยปกติอัตราหายใจจะอยู่ที่ 12-20 ครั้งต่อนาที และเมื่อเวลาออกกำลังกาย ในคนที่มีภาวะร่างกายแข็งแรงจะมีน้อยครั้งกว่าคนปกติ ซึ่งบ่งชี้ถึงการดูแลสุขภาพที่ดี และสภาพร่างกายที่แข็งแรง

ไกรรพ กล่าวเพิ่มเติมว่า สมาร์ทวอทช์การ์มินทุกรุ่นมีฟังก์ชันที่ใช้ในการออกกำลังกายเป็นพื้นฐาน เพิ่มเติมด้วยการใช้งานในฟังก์ชันที่ช่วยผู้สวมใส่ตรวจจับสุขภาพของตนเอง ครอบคลุมตั้งแต่การสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกายจนถึงการเฝ้าระวังภาวะเสี่ยงด้านสุขภาพ เป็นผู้ช่วยอัจฉริยะที่จัดเก็บข้อมูลสุขภาพที่เป็นประโยชน์ในการอ้างอิง หากแต่ไม่ใช่เครื่องมือแพทย์ โดยข้อมูลทั้งหมดแสดงผลทั้งแบบเรียลไทม์และสามารถดูย้อนหลังได้ สามารถนำมาวิเคราะห์ผลสุขภาพเบื้องต้น เป็นประโยชน์กับผู้สวมใส่ในการแจ้งเตือน คาดการณ์ และเฝ้าระวังความเสี่ยงด้านสุขภาพ เพิ่มความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะช่วงนี้ที่จำเป็นต้องระมัดระวังตนเองจากความเสี่ยงด้านสุขภาพเป็นพิเศษ เสมือนมีผู้ช่วยส่วนตัวเก็บข้อมูลสุขภาพ รายงานผล และแจ้งเตือนอย่างสม่ำเสมอ

สำหรับการ์มินสมาร์ทวอทช์รุ่นที่สามารถใช้งานคุณสมบัติตรวจสอบตัวชี้วัดทั้ง 5 จะมีอยู่ทั้งหมด 8 รุ่น คือ vívoactive 4/4S, Legacy Hero/Saga, Venu, vívomove 3 series, Forerunner 245/245 Music, Forerunner 945, fenix 6 Series และ MARQ Series โดยมีราคาเริ่มต้นตั้งแต่ 9,550 บาท ผู้ที่สนใจสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.garmin.co.th/event/2020/immunity/#heart-rate สำหรับการ์มิน สมาร์ทวอทช์รุ่นต่าง ๆ สามารถดูรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้งาน และสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ได้ที่ตัวแทนจำหน่าย GARMIN ทั่วประเทศ หรือ www.garminbygis.com

COMMENTS