6 มี.ค. 2563 1,142 0

AIS ร่วมกับรถไฟฟ้า BTS นำผลทดสอบคลื่น 2600 MHz รายงานต่อกสทช. ยืนยันไร้ผลกระทบการเดินรถ เดินหน้าทดสอบกับ BEM ต่อเนื่องพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างเต็มที่

AIS ร่วมกับรถไฟฟ้า BTS นำผลทดสอบคลื่น 2600 MHz รายงานต่อกสทช. ยืนยันไร้ผลกระทบการเดินรถ เดินหน้าทดสอบกับ BEM ต่อเนื่องพร้อมสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนอย่างเต็มที่

หลังเปิดเผยผลการทดสอบการใช้งานคลื่น 2500-2600 MHz ของเอไอเอส ซึ่งเป็นคลื่นที่อยู่ใกล้ชิดกับคลื่นวิทยุ 2400-2500 MHz ที่ระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสใช้อยู่ โดยผลปรากฎว่า ยังไม่พบผลกระทบระบบการเดินรถไฟฟ้าแต่อย่างใดนั้น ในวันนี้ ผู้บริหารทั้ง 2 ฝ่าย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค หรือ AWN ในกลุ่มเอไอเอส โดยวสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ และ สุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ รถไฟฟ้าบีทีเอส ได้นำผลการทดสอบดังกล่าว เข้ารายงานต่อคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. โดยมี สรพงศ์ ไพทูรย์พงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และ กิตติพัฒน์ สุภัคลีลากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุง บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือบีอีเอ็ม พร้อมทั้ง สุภลักษณ์ ตรีเจริญ รักษาการ หัวหน้าแผนกวิศวกรรมมาตรฐานงานระบบ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ร่วมหารือและบูรณาการแนวทางการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ต่อระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าในระยะยาวต่อไป

โดย ภายหลังการรายงานและประชุมร่วมกันในครั้งนี้ ทาง กสทช.ได้ ยืนยันว่า ขณะนี้ ไม่พบปัญหาคลื่น 2600 MHz ทำการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของรถไฟฟ้าบีทีเอสแต่อย่างใด ขอให้ประชาชนมั่นใจได้

วสิษฐ์ วัฒนศัพท์ หัวหน้าฝ่ายงานปฏิบัติการและสนับสนุนด้านเทคนิคทั่วประเทศ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า “เป็นที่ชัดเจนว่าเรื่องความปลอดภัยเป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่เอไอเอสและรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ศึกษาและทดสอบการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความอุ่นใจให้แก่คนไทยในการใช้งานระบบ สื่อสารและระบบขนส่งมวลชนที่ดีที่สุด และทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งภาครัฐอย่างกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง โดยที่ผ่านมา เอไอเอส ได้ทำการทดสอบเพื่อเก็บข้อมูลในการป้องกันปัญหาเรื่องคลื่นรบกวนมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ทั้งช่วงก่อนเปิดประมูลและเข้มข้นยิ่งขึ้นหลังจากการประมูลเสร็จเรียบร้อย ในทุกช่วงเวลา และทุกเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งอยู่ในพื้นที่ขยายเครือข่ายทั้ง 4G / 5G ทั้งนี้ การทดสอบในเบื้องต้นยังไม่พบผลกระทบแต่อย่างใด”

นอกจากนี้ เอไอเอส ยังได้เริ่มทดสอบและป้องกันผลกระทบจากคลื่นความถี่ ร่วมกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (สายสีม่วงและสีน้ำเงิน) แล้วเช่นกัน

COMMENTS