13 ก.พ. 2563 871 0

AIS จับมือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เสริมสร้างความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพให้แก่ อสม.ผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์

AIS จับมือกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เสริมสร้างความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพให้แก่ อสม.ผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์

13 กุมภาพันธ์ 2563 : กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข โดย นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือเอไอเอส โดย วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อเสริมสร้างความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพสำหรับอสม.ผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามฯ ณ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี

วีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร เอไอเอส กล่าวว่า “เอไอเอส รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพในการเป็นสื่อกลางที่จะเสริมความรู้ข่าวสารด้านสุขภาพแก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) โดยผ่านแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อส่งเสริมให้ อสม.สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้มากยิ่งขึ้น เป็นผู้ที่มีความรอบรู้ด้านสุขภาพและสามารถนำความรู้ที่มีอยู่ไปถ่ายทอดให้แก่ประชาชนในชุมชนได้อย่างมั่นใจ ซึ่งสอดคล้องกับเจตนารมณ์ของเอไอเอสที่ได้พัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ให้เป็นเครื่องมือสื่อสารในรูปแบบเครือข่ายสังคมออนไลน์เฉพาะกลุ่มระหว่าง อสม.และหน่วยบริการสุขภาพในแต่ละพื้นที่ รวมทั้งยังมุ่งหวังให้ อสม.ออนไลน์เป็นเครื่องมือในการสร้างการเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อให้ อสม.เข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องและครอบคลุมมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่มีแหล่งข้อมูลจำนวนมาก ซึ่ง อสม.และประชาชนจำเป็นต้องมีความเข้าใจที่จะเลือกรับข่าวสารจากแหล่งที่น่าเชื่อถือและตรวจสอบได้   “ความร่วมมือในครั้งนี้ จะทำให้ อสม.ผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ได้รับทราบข่าวสารจากกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีแหล่งข้อมูลด้านสุขศึกษาที่น่าเชื่อถือ จะเป็นผู้ผลิตข้อมูลความรู้ผ่านแอปฯอสม.ออนไลน์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของ อสม.เพื่อนำไปถ่ายทอดความรู้และแนะนำการดูแลสุขภาพให้แก่ประชาชนในชุมชนได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีสถานการณ์ด้านสาธารณสุขที่เร่งด่วน เช่น การเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคปอดอักเสบจากเชื้อไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ช่องทางการสื่อสารที่น่าเชื่อถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะทำให้ประชาชนไว้วางใจและเชื่อถือในข้อมูลที่ได้รับจาก อสม.มากขึ้น”

COMMENTS